Friday, July 30, 2010

วิจัยในชั้นเรียน

วิจัยเรื่อง ปัญหาการตีความโจทย์ระคนวิชาคณิตศาสตร์

กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย
- นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1
- เด็กหญิงณิชาภัทร ไพรทูลย์

ผู้วิจัย
นางสาวกานต์พิชชา มั่นสกุล

ปัญหาในการวิจัย
นักเรียนสามารถตีโจทย์ปัญหา บวก ลบ คูณและหาร ธรรมดาได้ แต่เมื่อให้ตีโจทย์ปัญหาระคน นักเรียนไม่สามารถตีโจทย์ได้ อาจเป็นเพราะ โจทย์ปัญหาระคนเป็นโจทย์ที่มีหลายวิธีดำเนินการอยู่ในข้อเดียวกัน และมีข้อความที่สร้างเงื่อนไขจากจำนวนตัวเลขมากกว่า 2 จำนวน ให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว นักเรียนต้องใช้ความสามารถในการ คิดวิเคราะห์หาวิธีการ บวก ลบ คูณ หาร เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ โดยวิเคราะห์จากเงื่อนไขที่โจทย์กำหนดให้ ถ้าตีความหมายของโจทย์ผิด เลือกวิธีแก้ปัญหาผิด คำตอบจะผิด และถ้านักเรียนไม่มีพื้นฐานการบวก ลบ คูณ หาร แล้วนักเรียนจะไม่สามารถเรียนวิชาคณิตศาสตร์ขั้นสูงต่อไปได้ และยังทำให้ผลสัมฤทธิ์การเรียนอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

วิธีการแก้ปัญหา
1) เลือกกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง จากการสังเกต ตรวจการทำการบ้าน และแบบฝึกหัดผิด ในวิชา วิชาคณิตศาสตร์ ของเด็กหญิงณิชาภัทร ไพรทูลย์
2) สร้างวิธีการสอนตามสถานการณ์จริง
- อธิบายวิธีการ หลักการของการบวก การลบ การคูณ การหาร ทีละวิธี ทดสอบโดยการใช้
คำถาม – ตอบ
- สร้างแบบสัมพันธ์วิธีบวก-ลบ, คูณ-หาร เป็นแบบฝึกหัด
- สร้างโจทย์ระคนกันหลากหลายจากโจทย์ง่าย ๆ ตัวเลขน้อย ๆ โดยกำหนดสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันของนักเรียนเช่น การไปจ่ายตลาด ไปห้างสรรพสินค้า ให้นักเรียนฝึกแก้ปัญหาตามแบบฝึกหัดที่กำหนด โดยใช้ขั้นตอนดังนี้
3) อ่านโจทย์ปัญหาระคนหลาย ๆ เที่ยว ให้เข้าใจ
- แปลความหมายของโจทย์ ว่าโจทย์กำหนดอะไร และโจทย์ต้องการอะไร
- วิเคราะห์ว่าข้อความใดที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณ
- มองหาความสัมพันธ์ของข้อมูลต่าง ๆ จากโจทย์ แล้วจัดลำดับขั้นตอนการแก้ปัญหา และนำมา
เขียนเป็นโจทย์สัญลักษณ์
- คิดคำนวณหาคำตอบ
4) ให้นักเรียนสร้างโจทย์เองจากประสบการณ์ตัวเอง แก้ปัญหาเอง แล้วบอกวิธีแก้ปัญหาด้วย
5) เริ่มสอนนักเรียนทีละขั้นตอนตามวิธีการสอน แล้วประเมินด้วยแบบฝึกหัด เก็บคะแนนบันทึก
6) ทำแบบทดสอบท้ายบทแล้วประเมินผลหาคุณภาพผู้เรียน

ผลจากการแก้ไขปัญหา
จากการที่ข้าพเจ้าได้ดำเนินการวิจัย เรื่อง ปัญหาการตีความโจทย์ระคน ของนักเรียนชั้น ป. 3/1 ของเด็กหญิงณิชาภัทร ไพรทูลย์ โดยใช้วิธีการสอนกำหนดโจทย์ตามสถานการณ์จริง พบว่า นักเรียนทำการบ้านและแบบฝึกหัดได้ถูกมากขึ้น และนักเรียนตั้งใจฟังครูอธิบายและสนใจในข้อความโจทย์ปัญหา และสนุกสนานกับการ สร้างโจทย์ปัญหาแปลก ๆ ตามประสบการณ์ของตนเอง เนื่องจาก โจทย์ปัญหาที่ครูนำมาเป็นเรื่องที่นักเรียนปฏิบัติในชีวิตประจำวันหรือใบแสดงสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งทำให้นักเรียนมองเห็นภาพความเป็นจริงที่ชัดเจน และง่ายต่อการจำโจทย์ปัญหาจึงสามารถวิเคราะห์หาคำตอบได้ง่ายขึ้น

สื่อการสอนและอุปกรณ์
- หนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์
- แบบฝึกหัด